1. พิพิธภัณฑ์
ภาพรวมการดำเนินงาน
วัตถุประสงค์ของโครงการ
กำหนดประเภทและแนวทางในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ส่งเสริมวิชาชีพพิพิธภัณฑ์ สร้างระบบการประเมิน ระบบการรับรองมาตรฐานและการให้คำปรึกษา เพิ่มประสิทธิภาพความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์และสายงานอื่น รวบรวมและประยุกต์ใช้ทรัพยากร พัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งดูแลวัฒนธรรมท้องถิ่นในเชิงลึก ตลอดจนให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางวัฒนธรรม และมุ่งหน้าไปสู่ระดับสากล
แผนยุทธศาสตร์
ส่งเสริมระบบการประเมินและการรับรองมาตรฐานของพิพิธภัณฑ์ผ่านกฎหมายพิพิธภัณฑ์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดวางระบบการวางแผนสำหรับพิพิธภัณฑ์ทั้งของรัฐและเอกชน การจัดตั้ง การให้คำปรึกษา รางวัลจูงใจตอบแทน เงินอุดหนุน และการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ อีกทั้งเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศกับองค์กรวิชาชีพเพื่อยกระดับเนื้อหาด้านการบริการและคุณภาพของพิพิธภัณฑ์
หน้าที่หลัก
เนื้อหาการดำเนินการ
- การวิจัยและส่งเสริมนโยบายและกฎระเบียบของพิพิธภัณฑ์
- การวิจัยและส่งเสริมของพิพิธภัณฑ์ในด้าน การให้คำปรึกษา รางวัลจูงใจตอบแทน (ช่วยเหลือสนับสนุน) การประเมินและการรับรองมาตรฐานของพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ
- การวิจัยและส่งเสริมการอบรมเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ และทุนสนับสนุน
- เรื่องการแลกเปลี่ยนและการร่วมมือกันของพิพิธภัณฑ์
- เรื่องอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยในการส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์ที่ขึ้นกับกรมทรัพยากรทางวัฒนธรรม
การพัฒนาในอนาคต
จัดให้มีการปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่องผ่านกฎหมายพิพิธภัณฑ์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง สร้างระบบการประเมินและการรับรองมาตรฐานของพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ ส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์มุ่งสู่การพัฒนาในระดับมืออาชีพ นอกจากนี้ยังจัดให้มีช่องทางการศึกษาเพิ่มเติมและหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรอย่างมืออาชีพสำหรับบุคลากรในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการทางวิชาชีพ อีกทั้งยังมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ และการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ แสวงหาโอกาสเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับไต้หวันในต่างประเทศ ส่งเสริมผลงานและประสบการณ์ของพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน
ในขณะเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกับ「แผนพัฒนาพิพิธภัณฑ์และศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น」 ทางกรมทรัพยากรทางวัฒนธรรม ได้ดำเนินการให้คำแนะนำแก่หัวหน้าหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อปลูกฝังแนวคิดที่เป็นมืออาชีพ ช่วยปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของพิพิธภัณฑ์ เพิ่มความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ตามระดับภูมิภาคและหัวข้อเฉพาะ ร่วมกันผลักดันการพัฒนาวิชาชีพแบบบูรณาการของพิพิธภัณฑ์ ด้วยทรัพยากรที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ของพิพิธภัณฑ์ จึงส่งเสริมให้ประชาชนทั้งหมดได้ใช้บริการต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ เพิ่มการมีส่วนร่วมของชาวไต้หวันในกิจการงานต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมของพิพิธภัณฑ์ สนับสนุนความเท่าเทียมทางวัฒนธรรม ยกระดับความรู้ทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ
การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์: สนับสนุนพิพิธภัณฑ์และชุมชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกับองค์กรวิชาชีพและการประชุมระดับนานาชาติ จัดงานแสดงนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ จัดนิทรรศการสัญจร และอื่น ๆ เชื่อมโยงกับนานาชาติ (รวมถึงไต้หวันและจีน) เพื่อส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมของไต้หวัน ประเด็นทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์หรือเชื่อมโยงไต้หวันกับนานาประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เท่าเทียมและเกิดประโยชน์ร่วมกัน ยกระดับชื่อเสียงของพิพิธภัณฑ์ในไต้หวันให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพของพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการจัดนิทรรศการสัญจรนานาชาติ ที่จัดทำจากคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์เป็นลำดับแรก เพื่อส่งเสริมการร่วมมือระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นสากล
2. ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น (地方文化館)
ภาพรวมการดำเนินงาน
วัตถุประสงค์ของโครงการ
「แผนพัฒนาพิพิธภัณฑ์และศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น」ดำเนินการให้คำปรึกษาผ่านการแนะนำแบบแยกส่วน ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือในการกำหนดประเภทและแนวทางในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ การบูรณาการแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นและทรัพยากรบุคคลที่เป็นผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น การสร้างและการปรับโครงสร้างสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นใหม่ ทั้งหมดนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพวัฒนธรรมโดยรวมและนำเสนอเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ (ชุมชน) ที่หลากหลาย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ :
- รับรองความเท่าเทียมทางวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมของประชาชน
- ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างครบวงจร
- ส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมที่หลากหลายของพิพิธภัณฑ์
- เสริมสร้างความเป็นมืออาชีพในการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์
- สร้างระบบการจัดการที่ยั่งยืนสำหรับงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น
แผนยุทธศาสตร์
การสร้างพื้นที่สำหรับวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น เพื่อให้เป็นช่องทางในการสื่อสารสำหรับศิลปะ มนุษยศาสตร์ การเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยว ความคิดสร้างสรรค์ และสุนทรียศาสตร์ของชีวิต ในกรณีที่ไม่ต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ มีการวางแผนโดยรวมเพื่อปรับปรุงพื้นที่วัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วหรือพื้นที่ว่าง และจัดการปลุกให้พื้นที่ดังกล่าวกลับมามีชีวิตชีวา เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เชื่อมภูมิทัศน์ในท้องถิ่นเข้ากับทรัพยากรอุตสาหกรรม สร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อรวบรวมทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถ นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมแพลตฟอร์มความร่วมมือ เพื่อขยายศักยภาพในการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ สร้างบรรยากาศทางวัฒนธรรมในพื้นที่ท้องถิ่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรมของผู้อยู่อาศัย กระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำการตลาดเพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ท้องถิ่น ดึงดูดทรัพยากรการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
หน้าที่หลัก
เนื้อหาการดำเนินการ
แนวทางในการพัฒนาของโครงการนี้คือ「ความเป็นมืออาชีพ เข้าถึงท้องถิ่น และยั่งยืน」 โดยได้รวบรวมผลงานจากแผนงานที่ผ่านมา สร้างและคิดใหม่เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางและกลยุทธ์การพัฒนาของพิพิธภัณฑ์ ส่งเสริมระบบการพัฒนาและแผนดำเนินงานของรัฐบาลท้องถิ่น (เมือง) มีการจัดเตรียมการร่างแบบพิมพ์เขียวสำหรับการพัฒนาวัฒนธรรม ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรด้านวัฒนธรรมอย่างครบวงจร และเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางวัฒนธรรม
การมีส่วนร่วมกันของผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นนั้น เป็นการผสมผสานแนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม เชื่อมโยงพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของพื้นที่วัฒนธรรมท้องถิ่นประเภทต่างๆ รวมศูนย์วัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคให้เป็นแผนที่วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ครอบคลุม จึงทำให้เกิดแพลตฟอร์มความร่วมมือแบบบูรณาการ ยกระดับการมีส่วนร่วม การสร้างสรรค์ และการแบ่งปันทางวัฒนธรรม สร้างการพัฒนาทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ และช่วยให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงบริการทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดที่สุด
แนวทางการพัฒนาในอนาคต
การผลักดันแผนพัฒนาพิพิธภัณฑ์และศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่นในการให้คำแนะนำในการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่น มุ่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมพื้นฐานสำหรับการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างครอบคลุม ผ่านแนวคิดการบูรณาการทรัพยากรและการเพิ่มมูลค่าข้ามสาขา สร้างข้อได้เปรียบในการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพวัฒนธรรมและชีวิตของประชาชน และนำสิทธิทางวัฒนธรรมไปปฏิบัติใช้ต่อพลเมืองอย่างจริงจัง
ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น ถือเป็นจุดศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากที่สุด ด้วยการจัดเตรียมทรัพยากรด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเพียงพอ เป็นการรับประกันโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับประชาชนทุกคน มุ่งสู่ความเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตทางวัฒนธรรมของพลเมืองทุกคน รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่ดีในสังคม
ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ แต่เป็นศูนย์กลางในการดำเนินชีวิตของผู้อยู่อาศัยในแต่ละท้องถิ่นนั้น ผ่านการผลักดันจากโครงการนี้ ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นได้ สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้อยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิต คุณค่าและความหมายของสิ่งเหล่านี้ล้วนรอคอยการยอมรับและสนับสนุนจากสาธารณชน